ช่วงนี้มีดาวหางดวงหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากนั่นก็คือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เมื่อคืนแอดได้มีโอกาสเก็บภาพดาวหางดวงนี้ที่ยังพอสังเกตเห็นได้
ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตก พาดสว่างบนท้องฟ้า ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เป็นต้นมา ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก หลังพระอาทิตย์ตกดินไป หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย สามารถเห็นหางของดาวหางได้ด้วยตาเปล่า โดยจะอยู่บริเวณทางขวาของดาวศุกร์
ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2567 โดยมีระยะห่างจากโลกที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร หลังจากนี้ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส จะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ แต่จะยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม สามารถสังเกตดาวหางได้ทุกวันในช่วงค่ำ ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป เมื่อทราบตำแหน่งคร่าว ๆ แล้ว ให้สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะเป็นดาวสว่างที่มีหางเป็นฝ้าจาง ๆ ยืดยาวออกมาบนท้องฟ้า
ในระหว่างที่ดาวหาง C/2023 A3 กำลังค่อย ๆ เดินทางจากไป นักดาราศาสตร์ได้ติดตามการเคลื่อนที่ของดาวหางดวงนี้ ก่อนพบว่าดาวหางดวงนี้ไม่ได้ใช้เวลาเพียง 80,000 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ และนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส จะเข้ามาเฉียดใกล้ดาวฤกษ์ของเรา ก่อนถูกดีดออกจากระบบสุริยะไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
เนื่องจากนักดาราศาสตร์คำนวณวงโคจรของดาวหาง จากการสังเกตการณ์ตำแหน่งของดาวหางจากช่วงต่าง ๆ ระหว่างเดินทางเข้ามาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ ล่าสุดข้อมูลจากวันที่ 14 ตุลาคม 2024 พบว่าดาวหาง C/2023 A3 ถูกอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ และบรรดาดาวเคราะห์ชั้นในของระบบสุริยะกระทำกับวงโคจร ทำให้คาบการโคจรของดาวหางอาจสั้นลงจากประมาณ 1,400 ล้านปี เหลือเพียง 235,000 ปี และ พบว่าวงโคจรแบบไฮเปอร์โบลาของดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส อาจทำให้ดาวหางดวงนี้เดินทางออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาลได้เช่นกัน
ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) หรือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน (紫金山天文台) สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ประเทศแอฟริกาใต้
ขอบคุณข้อมูลจาก
เพจ facebook : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
เพจ facebook : KornKT
.
ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส l ดาวหางที่กำลังเดินทางไกล