ประวัติอาคารท้องฟ้าจำลองเทศบาลนครอุดรธานี

              เทศบาลนครอุดรธานี มีนโยบายการจัดการศึกษาท้องถิ่นที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต          มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในระบบ และ การศึกษานอกระบบ โดยในปี พ.ศ. 2548 เทศบาลนครอุดรธานี มีการก่อสร้างอาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครอุดรธานี เป็นอาคาร 3 ชั้น แยกเป็นเอกเทศ ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าโรงเรียนมัธยมเทศบาล 6 นครอุดรธานี ในปัจจุบัน โดยเปิดให้บริการประชาชน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นต้นมา

ในปีพ.ศ. 2553 นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ และ คณะผู้บริหารเทศบาลนครอุดรธานี มีนโยบาย ในการขยายและ พัฒนาปรับปรุง แหล่งเรียนรู้สาธารณะของเทศบาลเพิ่มเติม จึงมีโครงการปรับปรุงอาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครอุดรธานี ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และมีโครงการก่อสร้างอาคารท้องฟ้าจำลองเทศบาลนครอุดรธานี ซึ่งอยู่ติดกับอาคารห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครอุดรธานี ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างอาคารท้องฟ้าจำลอง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และ ดาราศาสตร์ สำหรับ เด็ก เยาวชน และ ประชาชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานี และ พื้นที่ใกล้เคียง ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวทางด้านวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับดาราศาสตร์ ผ่านการชมภาพยนตร์ และ โปรแกรมการดูดาว ในโดมท้องฟ้าจำลอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไปศึกษาดูงานยังท้องฟ้าจำลองที่ห่างไกลจากอุดรธานี จึงได้หาแนวทางการบริหารจัดการและดำเนินการก่อสร้างอาคารท้องฟ้าจำลองแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2554 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคารท้องฟ้าจำลองเป็นจำนวนเงินกว่าหกล้านบาทเศษ และ งบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ และ ตกแต่งภายในไปกว่า ยี่สิบห้าล้านบาท รวมเป็นงบประมาณในการจัดตั้งอาคารท้องฟ้าจำลองเทศบาลนครอุดรธานี กว่า 30 ล้านบาท และในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2555 เทศบาลนครอุดรธานี ได้จัดพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองเทศบาลนครอุดรธานี อย่างเป็นทางการ และ เปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ท้องฟ้าจำลอง เทศบาลนครอุดรธานี ได้รับการออกแบบตกแต่งโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ให้ผู้เข้าชมตื่นเต้นไปกับบรรยากาศการจำลองห้วงอวกาศตั้งแต่เริ่มก้าวเข้าสู่ส่วนหน้าของอาคารไปจนกระทั่งถึงภายในห้องท้องฟ้าจำลอง รวมถึงในแต่ละจุดยังแฝงความรู้ต่างๆ ให้กับผู้เข้าชมได้เรียนรู้อีกด้วย อาทิ แผนที่ดาวบริเวณโถงหน้าประชาสัมพันธ์, กำแพงความรู้ด้านดาราศาสตร์ที่เรียงรายโดยรอบบริเวณโถงหน้า เป็นต้น

ภายในห้องท้องฟ้าจำลอง มีจำนวนที่นั่ง ๔๐ ที่นั่ง แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 20 นาทีประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. โดมรับภาพ (5 เมตร) : นอกจากจะสามารถใช้เพื่อเรียนรู้และดูดาวต่างๆ จากโปรแกรมที่
    ทันสมัยและถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ยังมีภาพยนตร์ดาราศาสตร์ที่จัดทำเฉพาะเพื่อฉายขึ้นโดม จำนวนมากถึง 11 เรื่อง นอกจากนี้จุดเด่นสำคัญของท้องฟ้าจำลองเทศบาลนครอุดรธานี คือ มีระบบฉาย ภาพยนตร์สามมิติซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะทั้งด้านเทคนิคการฉายและเนื้อหาภาพยนตร์เพื่อการฉายขึ้นโดม ซึ่งระบบฉายภาพยนตร์สามมิตินี้เป็นระบบการฉายที่ให้ภาพทั้งมิติลึกและมิติลอยโดยเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย และ เทศบาลนครอุดรธานี ได้จัดตั้งงบประมาณในการจัดซื้อ สื่อสารสนเทศภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อหา ที่น่าสนใจ และ ทันสมัย เสริมสร้างจินตนาการ ก่อแรงบันดาลใจ ในการค้นคว้าข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ และ ดาราศาสตร์ ให้แก่ เด็ก เยาวชน ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี อย่างต่อเนื่อง
  2. จอรับภาพขนาดใหญ่ (4×2 เมตร) : นอกจากโดมรับภาพแล้ว ภายในห้องท้องฟ้าจำลองยังได้รับ
    การออกแบบให้มีอรรถประโยชน์ในการใช้งานอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยระบบที่รองรับการฉายภาพยนตร์สามมิติเข้าสู่จอรับภาพด้านหน้า โดยเป็นระบบแว่นโพลารอยด์ ซึ่งตอบสนองต่อการรับชมภาพยนตร์สามมิติที่มีระยะเวลานานได้โดยไม่ปวดตาหรือเวียนศีรษะ รวมถึงยังมีภาพยนตร์สามมิติให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในรูปแบบ Animation จำนวนมากถึง 10 เรื่อง